1/5/54

การผสมเกสรกล้วยไม้

          กล้วยไม้ เป็นพืชที่มีลักษณะของเกสรใหญ่ที่สุดในบรรดาพฤกษาพรรณ การผสมพันธุ์พืชชนิดนี้จึงทำได้โดยง่าย ด้วยเหตุนี้ กล้วยไม้ จึงเป็นพืชที่ถูกมนุษย์ทำให้เกิดความหลากหลายมากที่สุดบนโลกใบนี้นั่นเองครับ
สำหรับการผสมเกสรนั้น มี 2 ลักษณะครับ 


ภาพ การผสมแบบ Self

อย่างแรก เราเรียกว่าการ การผสมตัวเอง (self pollination) ที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า ต้นนี้ self ก็หมายถึง การ ผสมตัวเองนี่แหละครับ ลักษณะนี้ เป็นการนำเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียภายในดอกเดียวกัน หรือ ต่างดอก แต่ อยู่ ในช่อเดียวกัน หรือ ต้นเดียวกัน มาผสมกันกันเองครับ ลักษณะนี้ ลูกที่ได้จะมีลักษณะเหมือนพันธุ์แท้ทุกประการ หรือ แตกต่างออกไปเล็กน้อย แต่ด้วยวิธีนี้ ลูกไม้มักจะไม่หลากหลาย บางครั้งเมื่อนำพันธุ์แท้ต้นสวยมาผสมตัวเอง ลูกที่ได้อาจตีกลับ กลายเป็นต้นไม่สวยก็มีครับ ด้วยความที่ให้ลูกไม่หลากหลาย และให้ลูกที่คล้ายกับต้นเดิม จึงไม่ ค่อยเหมาะแก่การพัฒนาสายพันธุ์นัก เว้นเสียแต่ว่า ต้องการรักษาชนิดต้นนั้น ๆ ให้คงไว้ เช่น เขาแกะเผือก ผสม ตัวเอง เพื่อจะเพิ่มจำนวนเขาแกะเผือกเผื่อว่าต้นแม่ตายจะได้ไม่สูญพันธุ์ เป็นต้น 

อย่างที่สอง การผสมข้ามเกสร (cross pollination) เป็นการผสมเกสรตัวผู้เข้ากับตัวเมีย ที่ไม่ใช่ต้นเดียวกันสามารถทำได้ 3 ลักษณะคือ

ภาพ การผสมข้ามต้น

1. การผสมข้ามต้น (interclonal) เป็นการผสมกล้วยไม้ชนิดพันธุ์เดียวกัน แต่ว่าเป็นคนละต้นกัน เช่น การนำสายน้ำครั่งสั้น 2 ต้น มาผสมกัน โดยต้นที่ 1 และ ต้นที่ 2 ไม่ใช่ต้นเดียวกัน(แบบในภาพ) มาผสมกัน ลูกที่ได้ ก็ยังใช้ชื่อ สายน้ำครั่งสั้นเหมือนเดิม และยังเป็นพันธุ์แท้ดั่งเดิม ลักษณะลูกที่ได้ จะมีลักษณะที่หลากหลายมากขึ้น เช่น หากนำต้น ดอกใหญ่ สีอ่อน ผสมเข้ากับ ต้นดอกเล็กสีเข้ม ลูกที่ได้ อาจจะมีทั้งดอกใหญ่สีเข้ม ดอกใหญ่สีอ่อน ดอกเล็กสีอ่อน และ ดอก เล็กสีเข้ม เป็นต้น หากใช้สายพันธุ์ที่สวยทั้งคู่ โอกาสที่จะได้ลูกไม้ที่สวยขึ้นก็มีมากเช่นกัน ลักษณะนี้จึงเหมาะแก่ การผสมเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ไม้พันธุ์แท้

ภาพ การผสมข้ามระหว่างชนิด

2. การผสมข้ามระหว่างชนิด (interspecific) เป็นการผสมกล้วยไม้ต่างชนิด แต่อยู่ในสกุลเดียวกัน เช่น การผสม พวงหยก กับ สายน้ำครั่ง ตามภาพด้านบน ซึ่งทั้งสองอยู่ในสกุลหวาย (dendrobium) เช่นเดียวกัน ลูกที่ได้จะมีชื่อเปลี่ยนไป และไม่ใช่พันธุ์ แท้ รูปทรงของดอกและลักษณะต่าง ๆ ก็จะเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน การผสมลักษณะนี้จะทำให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ที่ยัง อยู่ในสกุลเดิม เหมาะสำหรับการพัฒนาสายพันธุ์ไม้ลูกผสมสกุลเดิม

ภาพ การผสมข้ามระหว่างสกุล

3. การผสมข้ามระหว่างสกุล (intergeneric) เป็นการผสมกล้วยไม้ ข้ามสกุล เช่น ช้าง(Rhyncho) ผสมกับ ลิ้นกระบือ (Hygrochilus) ลูกที่ได้จะกลายเป็นสกุลใหม่ ชื่อใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นชื่อของผู้ผสมที่ไปจดทะเบียนขึ้นบัญชีครับ หลักการเปลี่ยนสกุลก็ง่าย ๆ แค่จับชื่อสกุลชนกันเท่านั้น เช่น Ascocentrum x Vanda = Ascocenda ตัดหัวตัดท้ายนิดหน่อย เท่านั้นเองครับ ลักษณะนี้เหมาะแก่การ พัฒนาสายพันธุ์ให้ได้ลูกออกมาหลากหลายแตกต่างและสวยขึ้นครับ 
****การผสมกล้วยไม้บางครั้งจับคู่หลุดโลกกันมาก ๆ ก็ไม่สามารถเข้ากันได้ เช่น รองเท้านารี x เอื้องสายหลวง เป็นต้น ถ้าทำได้หน้าตาออกมาคงพิลึกพิลั่นน่าดูชมเชียวครับ ...!





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น