30/4/54

โรคที่สำคัญของกล้วยไม้




โรคเน่าดำหรือโรคยอดเน่าหรือโรคเน่าเข้าไส้


เกิดจากเชื้อรา Phytophthora palmivora สามารถเข้าทำลายกล้วยไม้ได้ทุกส่วน เข้าทำลายรากทำให้รากแห้งมีผลทำให้ใบเหลืองและร่วง ถ้าเป็นที่ยอด ยอดจะเน่าเป็นสีน้ำตาลหากเป็นรุนแรงเชื้อจะลามเข้าไปในลำต้น ซึ่งเมื่อผ่าดูจะเห็นในลำต้นมี สีดำเป็นแนวยาว ส่วนอาการที่ดอกบริเวณปากดอกและก้านดอก เหี่ยวสีน้ำตาล ถ้าเป็นรุนแรงดอกจะหลุดร่วงจากช่อ โรคนี้มักแพร่ระบาดมากในฤดูฝนหรือในสภาพอากาศมีความชื้นสูง
การป้องกันกำจัด ไม่ควรปลูกกล้วยไม้แน่นเกิน เมื่อพบต้นที่เป็นโรคให้แยกออกไปเผาทำลายทิ้งถ้าเป็นกับกล้วยไม้ที่โตควรตัดส่วนที่เป็นโรคออกแล้วใช้สาร เคมีป้าย เช่น ริโดมิลสลับกับไดเทน เอ็ม 45
      โรคดอกสนิมหรือจุดสนิม
โรคนี้เป็นปัญหามากเพราะกล้วยไม้อาจแสดงอาการระหว่างการขนส่งได้ เกิดจากเชื้อรา Curvularia eragrostidis พบที่กลีบดอกกล้วยไม้ โดยเริ่มแรกเป็นจุด ขนาดเล็กสีน้ำตาลอมเหลือง จุดขยายใหญ่มีสีเขียวเข้มคล้ายสนิม โรคนี้ระบาดได้ดีในช่วงฤดูฝนหรือสภาพที่มีน้ำค้างลงจัด
การป้องกันกำจัด รักษาความสะอาดแปลง อย่าปล่อยให้ดอกกล้วยไม้บานโรยคาต้น เก็บดอกที่เป็นโรคนี้ออกให้หมดและเผาทำลายเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมโรคและฉีดพ่นด้วยสารเคมีประเภทไดเทน เอ็ม 45 ไดเทน เอล เอฟ หรือ มาเนกซ์ โดยในช่วงฤดูฝนควรฉีดพ่นให้ถี่ขึ้น
โรคใบปื้นเหลือง
เกิดจากเชื้อ Pseudocercospora dendrobii มักเกิดกับใบที่อยู่โคนต้น โดยใบจะมีจุดกลมสีเหลือง เมื่อเป็นมาก ๆ จะขยายติดต่อกันเป็นปื้นเหลืองตามแนว ยาวของใบ เมื่อพลิกดูใต้ใบจะเห็นกลุ่มผงสีดำ และใบจะเป็นสีน้ำตาลหลุดร่วงจากต้น โรคนี้ระบาดมากในช่วงฤดูฝน-ฤดูหนาว
การป้องกันกำจัด เก็บรวบรวมใบที่เป็นโรคเผาทำลาย และฉีดพ่นด้วยยาประเภทคาร์เบนดาซิม เช่น มัยซิน ไดเทน เอ็ม 45 หรือ เบนเลท ทุก 7-10 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
โรคใบจุด
เกิดจากเชื้อรา Phyllostictina pyriformis เกิดได้ตลอดปีลักษณะอาการจะแตกต่างกันไป เช่น แวนด้า แผลจะมีลักษณะเป็นรูปยาวรีคล้ายกระสวยตรงกลาง แผลจะมีตุ่มนูนสีน้ำตาล เกษตรกรมักเรียกว่าโรคขี้กลาก ในสกุลหวายแผลจะมีจุดกลมสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ขอบแผลมีสีน้ำตาลอ่อน เกิดได้ทั้งใบบนและใบล่าง
การป้องกันกำจัด รวบรวมใบที่เป็นโรคเผาทำลาย และฉีดพ่นด้วยยาประเภทคาร์เบนดาซิม เช่น มัยซิน, ไดเทน เอ็ม 45 หรือไดเทน แอล เอ
โรคแอนแทรกโนสหรือโรคใบไหม้
เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum sp. พบได้ที่ปลายใบและกลางใบ ลักษณะเป็นแผลสีน้ำตาลเป็นวงเรียงซ้อนกันหลาย ๆ ชั้น และมีกลุ่มของเชื้อราเป็นสีดำเกิดขึ้นบนวง
การป้องกันกำจัด รวบรวมใบที่เป็นโรคทิ้ง และฉีดพ่นด้วยไดเทน เอ็ม 45 แคบเทน เดอโรซา
โรคต้นเน่าแห้ง
เกิดจากเชื้อรา Sclerotium rolfsii พบมากบริเวณรากหรือโคนต้น ซึ่งจะผุเปื่อย ถ้าอากาศชื้นมาก ๆ จะมีเส้นใยสีขาว และมีเม็ดกลม ๆ คล้ายเมล็ดผักกาดเกาะอยู่ตามโคนต้น บางครั้งจะแสดงอาการที่ใบทำให้ใบเน่าเป็นสีน้ำตาล เมื่ออากาศแห้งจะเหี่ยวและร่วงตาย ไปในที่สุด มักระบาดในฤดูฝน
การป้องกันกำจัด เก็บรวบรวมใบกล้วยไม้ที่เป็นโรคเผาทำลายทิ้ง และราดทับหรือฉีดพ่นด้วย เทอราโซล หรือ ไวตาแวกซ์
โรคเน่าเละ
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas gladioli อาการเริ่มแรกจะเป็นจุดฉ่ำน้ำขนาดเล็กบนใบหรือหน่ออ่อน ลักษณะเหมือนถูกน้ำร้อนลวก ใบจะพองเป็นสี น้ำตาลและฉ่ำน้ำ และต้นกล้วยไม้จะเน่าตายทั้งต้น
การป้องกันกำจัด ตัดหรือแยกส่วนที่เป็นโรคออกนำไปเผาทำลาย ไม่ควรปลูกต้นกล้วยไม้ให้แน่นเกินไป จะทำให้อากาศระหว่างต้นกล้วยไม้ไม่ถ่ายเท เกิดความชื้นสูงซึ่งง่ายต่อการเกิดโรค และควรป้องกันโดยฉีดพ่นด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น แอกริมัยซิน

โรคกล้วยไม้ที่เกิดจากเชื้อไวรัส
พบระบาดทั่วไปในแหล่งปลูกกล้วยไม้ในปัจจุบัน เกิดจากเชื้อไวรัส Tobacco Mosaic Virus Orchid Strain (TMV-O), Cymbidium Mosaic Virus (CyMV) ลักษณะอาการที่ปรากฎแตกต่างตามชนิดของเชื้อไวรัสและชนิดของกล้วยไม้ โดยมีลักษณะที่สังเกตได้ เช่น ใบด่างสีเขียวอ่อนสลับสีเขียวเข้ม ยอดบิด ยอดจะม้วนงอ ช่วงข้อจะถี่สั้น การเจริญเติบโตลดลงแคระแกรน ช่อดอกสั้น แข็งกระด้าง ขนาดดอกเล็ก ถ้าเป็นมากกลีบดอกจะมีสีซีดบริ เวณส่วนดอกด่าง และ ดอกมีขนาดเล็ก
การป้องกันกำจัด เชื้อไวรัสแพร่ระบาดได้ง่ายโดยติดไปกับเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น มีด กรรไกร ดังนั้น ต้องทำความสะอาดเครื่องมือให้สะดวก หมั่นตรวจ กล้วยไม้ถ้าพบอาการผิดปกติให้แยกออกแล้วนำไปเผาทำลายเพื่อกำจัดเชื้อ และในปัจจุบันการขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อทำให้ได้กล้วยไม้ที่ สมบูรณ์ แข็งแรง และปลอดไวรัส จึงช่วยลดปัญหานี้ได้
ที่มา:http://web.ku.ac.th/agri/orchid/orchid9.htm
http://www.benorchid.com/webboard/answer.php?id=562

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น